ประวัติความเป็นมาของ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย     ก่อตั้งขึ้นโดยพระราชปรารภในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรเมนทรมหาอานันทมหิดล(รัชกาลที่ 8)  ที่ทรงต้องการให้มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ผลิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นให้เพียงพอที่จะช่วยเหลือประชาชน ในปี พ.ศ. 2490 คณะแพทยศาสตร์แห่งที่ 2 ของประเทศไทยจึงได้ก่อกำเนิดขึ้น โดยใช้สถานที่ “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์  สภากาชาดไทย” และได้เปิดภาคการเรียนเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2490 มีนักศึกษาในปีแรก 67 คน ต่อมาคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้โอนมาสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกชื่อว่า “คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”  ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2510 เป็นต้นมา

พ.ศ.2519 – 2523
รองศาสตราจารย์นายแพทย์ศรีกุล จารุจินดา เป็นหัวหน้าภาควิชาฯด้วยวิสัยทัศน์ของท่านอาจารย์ได้มีการจัดตั้ง “ไอซียูกุมารฯ” เป็นไอซียูเด็กแห่งแรกในประเทศไทย อยู่ที่ตึกหลุยส์ฯ ในระยะแรกมี 4 เตียง เครื่องช่วยหายใจเป็น Bird mark 7&8 ไอซียูแห่งนี้เป็นต้นกำเนิดของการดูแลผู้ป่วยเด็กที่มีอาการหนักอย่างได้มาตรฐานของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และได้พัฒนาต่อเนื่อง จนปัจจุบันไอซียูเด็กของจุฬาฯเป็นที่ยอมรับและเป็นแหล่งฝึกอบรมกุมารแพทย์ และแพทย์เฉพาะทางออกไปดูแลรักษาผู้ป่วยเด็กเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ภาควิชาฯยังได้มีส่วนร่วมในการก่อตั้ง “มูลนิธิสงเคราะห์เด็กของสภากาชาดไทย” ตามพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีฯ องค์อุปนายิกาสภากาชาดไทย ซึ่งมูลนิธิฯจะให้การสงเคราะห์เด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้งไว้ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา อาจารย์ภาควิชาฯได้ช่วยดูแลเด็กของมูลนิฯอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันอันเป็นแบบอย่างของการบริการสังคมในฐานะกุมารแพทย์อีกอย่างหนึ่ง (continuity care & social contribution)

พ.ศ.2523 – 2531
 ศาสตราจารย์แพทย์หญิงชุลี มิตรกูล เป็นหัวหน้าภาควิชาฯมีการสร้างตึก “สิริภาจุฑาภรณ์” เป็นสถานที่ตั้งของไอซียูกุมารฯเพิ่มเตียงรับผู้ป่วยเด็กอาการหนักได้มากขึ้น โดยมี รศ.พญ.คุณหญิงโชติมา ปัทมานันท์ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารงานไอซียูกุมารฯในขณะนั้น ได้จัดการปรับปรุงให้มีเครื่องมือและอุปกรณ์ในไอซียูที่ทันสมัยยิ่งขึ้น ตึกสิริภาฯยังเป็นสถานที่ตั้งของโครงการสอนเด็กเจ็บป่วยเรื้อรัง ทำให้งานของโครงการฯขยายได้มากขึ้น ในสมัยอาจารย์ชุลีมีการส่งอาจารย์หลายท่านของภาควิชาฯไปศึกษาในต่างประเทศโดยทุนของคณะแพทยศาสตร์ และสภากาชาดไทย ซึ่งอาจารย์เหล่านี้ได้กลับมาเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาภาควิชาฯในด้านวิชาการและด้านอื่นๆรวมทั้งสร้างชื่อเสียงให้แก่ภาควิชาฯและคณะฯ อย่างต่อเนื่อง ในสมัยอาจารย์ชุลีคณาจารย์ของภาควิชาฯ เริ่มมีผลงานวิจัยในด้านต่างๆมากขึ้น

พ.ศ.2531 – 2535
 รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงคุณหญิงส่าหรี จิตตนันทน์ เป็นหัวหน้าภาควิชาฯเป็นช่วงที่ภาควิชาฯเริ่มดำริที่จะก่อสร้างตึกเด็กใหม่ในบริเวณเดิม เนื่องจากตึกหลุยส์เริ่มทรุดโทรม แต่ทางโรงพยาบาลจุฬาฯมีแผนปรับภูมิสถาปัตย์ แบ่ง  zone อาคาร สถานที่ โดยจะย้ายแผนกกุมารฯ ไปรวมอยู่ด้านหน้าซึ่งจะจัดเป็น zone ของการรักษาพยาบาล และสถานที่เดิมของแผนกกุมารฯซึ่งอยุ่ด้านหลังของโรงพยาบาล จะจัดทำเป็นหอพักพยาบาลอยู่ใน zone เดียวกับหอพักแพทย์ และหอพักนิสิตแพทย์ จึงต้องยกเลิกแผนการสร้างตึกใหม่ดังกล่าวไปก่อน และต่อมาได้เปลี่ยนเป็นการสร้างตึก สก.แทน โดย ศาสตราจารย์กดร.อุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการฯมูลนิธิตึก สก. เป็นกำลังสำคัญในการหาเงินบริจาคมาใช้ในการก่อสร้างตึก สก. เพื่อใช้เป็นที่ตั้งขอภาควิชากุมารเวชศาสตร์และหอผู้ป่วยเด็ก และศูนย์หัวใจ ในช่วงนี้เป็นช่วงที่ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมมารดา ซึ่งท่านอาจารย์คุณหญิงส่าหรีได้สนับสนุนและดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ภาควิชาฯมีบทบาทในเรื่องการให้ความรู้แก่สังคมในเรื่องการป้องกันและช่วยเหลือเด็กที่ถูกทอดทิ้งและกระทำทารุณ และเป็นผู้นำสหสาขาวิชาชีพเข้าร่วมในการดูแลและแก้ปัญหาและบูรณาการในเรื่องดังกล่าว ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น Scan team ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และเป็นต้นแบบให้แก่โรงพยาบาลต่างๆในระยะต่อมา

พ.ศ.2535  – 2539
 ศาสตราจารย์นายแพทย์วิโรจน์ สืบหลินวงศ์ เป็นหัวหน้าภาควิชาฯในช่วงที่ตึก สก. สร้างเสร็จ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ย้ายจากตึกหลุยส์ ตึกสิริภาฯ ตึกคลองไชยันต์ และตึกพระยามานวราชเสวี มาที่ตึก สก. ในปี พ.ศ2539 ในสมัยอาจารย์วิโรจน์นี้อาจารย์หน่วยโรคหัวใจของภาควิชาฯได้มีส่วนสำคัญในการจัดตั้ง ศูนย์โรคหัวใจ ของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เพื่อให้รักษาผู้ป่วยโรคหัวใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่อย่างครบวงจร ที่สำคัญภาควิชาฯร่วมกับมูลนิธิเด็กโรคหัวใจจัดให้มีการอบรมการกู้ชีวิตเด็กขั้นสูง (Pediatric Advanced Life Support : PALS) ตามมาตรฐานของ American Heart Association เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยวิทยากรจากต่างประเทศมาฝึกอบรมให้ และเป็นต้นแบบของการอบรม PSLS แก่กุมารแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน และพยาบาลที่เกี่ยวข้องให้แก่สถาบันต่างๆทั่วประเทศมาจนถึงปัจจุบัน

พ.ศ.2539 – 2545
 รองศาสตราจารย์แพทย์หญิงรัชนี เซ็นศิริวัฒนา เป็นหัวหน้าภาควิชาฯเป็นช่วงที่ภาควิชาฯต้องรับการประเมินในระบบประกันคุณภาพทั้งด้านการศึกษา(QA) และการรักษาพยาบาล (HA) มีการวางระบบบริหารจัดการที่ชัดเจนขึ้น และอาจารย์ทุกคนในภาควิชาฯต้องมีส่วนร่วมในการบริหารในส่วนต่างๆและในบทบาทต่างๆกัน มีการทำงานร่วมกันอย่างกลมเกลียวระหว่างแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ภาควิชากุมารฯริเริ่มจัดทำ quality improvement team ซึ่งประสานงาน QA และ HA ไว้ด้วยกันในระบบประกันคุณภาพซึ่งเป็นแนวทางต้นแบบให้ทางคณะฯและโรงพยาบาลฯนำไปพัฒนาและดำเนินการต่อจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้จัดทำ “แนวทางการดูแลรักษาปัญหาที่พบบ่อยในเด็ก” เป็น clinical practice guidelines ที่รองรับในเรื่องประกันคุณภาพของโรงพยาบาล และได้จัดทำเป็นหนังสือที่ใช้อ้างอิงมาจนปัจจุบัน

ในช่วงระยะนี้ภาควิชาฯได้สานต่อในเรื่องการป้องกันและช่วยเหลือเด็กที่ถูกทอดทิ้งและกระทำทารุณ โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กร UNICEF ได้จัดอบรมเรื่อง “Child protection : Training for the trainers” โดยได้รับความร่วมมือจากสหสาขาวิชาชีพจากหน่วยงานนอก(กทม. ครู ตำรวจ อัยการ นักสังคมสงเคราะห์)และริเริ่มแนวคิดในการจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังเรื่องดังกล่าว และจัดตั้ง SCAN team เป็น one stop service ในการช่วยเหลือเด็กที่ถูกกระทำทารุณและถูกทอดทิ้งให้เป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

สำหรับการรักษาพยาบาล ในช่วงนี้ภาควิชาฯได้ดำเนินการพัฒนาการบริการเป็น supratertiary care โดยจัดตั้ง hemodialysis unit สำหรับผู้ป่วยเด็ก ทำการปลูกถ่ายไขกระดูก (bone marrow transplant) ในเด็ก ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องและพัฒนาเรื่อยมาถึงปัจจุบัน

ในช่วงนี้มีการจัดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์เพื่อเด็กป่วยเรื้อรังในพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีฯ ที่โครงการสอนเด็กป่วยเรื้อรัง(ตึก สก.ชั้น12) และด้วยความร่วมมือร่วมใจของอาจารย์ในภาควิชาฯก็ได้ร่วมกันจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเอง” สำหรับนิสิตแพทย์และแพทย์ประจำบ้านของภาควิชาฯที่ตึก สก.ชั้น 12 เช่นกัน เพื่อรองรับปรัชญาการศึกษาแบบสืบสอบ (inquiry learning) ของคณะฯก็ได้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นส่วนกลางของคณะฯตามแนวคิดเดียวกัน

พ.ศ.2545 – 2549
 ศาสตราจารย์แพทย์หญิงพิมลรัตน์ ไทยธรรมยานนท์ เป็นหัวหน้าภาควิชาฯ ในช่วงนี้เป็นช่วงที่มีการปรับเปลี่ยนการใช้พื้นที่ของตึก สก. ค่อนข้างมาก รวมทั้งมีการเปลี่ยนแปลงรายวิชากุมารเวชศาสตร์ซึ่งเปลี่ยนจาการสอนในชั้นปีที่ 5 มาเป็นชั้นปีที่ 4 เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิตที่ปรับปรุงใหม่ (2545) ทำให้อาจารย์ของภาควิชาฯต้องทำงานหนักขึ้นสอนทั้งนิสิตปี 4 (หลักสูตรใหม่) และปี 5 (หลักสูตรเดิม) สำหรับแพทย์ประจำบ้าน ภาควิชาฯสนับสนุนให้การทำ continuity care clinic เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้นและดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันมีการปรับปรุงการประเมินผลการเรียนการสอนของนิสิตแพทย์ และแพทย์ประจำบ้านให้ถูกต้องแม่นยำยิ่งขึ้น (authentic assessment) มีการใช้แฟ้มสะสมงาน (portfolio assessment) ในการประเมินตามนโยบายของคณะฯและราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย คณาจารย์ของภาควิชาฯมีส่วนสำคัญในการพัฒนา portfolio และแนวทางการประเมินนิสิตของคณะฯ รวมทั้งนำมาใช้ในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง ในระยะเวลาช่วงนี้คณาจารย์ของภาควิชาผลิตผลงานวิจัยและงานวิชาการในรูปแบบต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ผลงานวิจัยของภาควิชาฯอยู่ในระดับแนวหน้าของคณะฯและมหาวิทยาลัยและอาจารย์ของภาควิชาฯได้รับรางวัลในระดับชาติและนานาชาติอยู่เนืองๆ……………..
สมัยที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังไม่มีคณะแพทยศาสตร์ ผู้ป่วยโรคเด็กรวมอยู่กับฝ่ายอายุรกรรม ต่อมาเมื่อตั้งคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้มีภาควิชากุมารเวชศาสตร์ขึ้น

หัวหน้าภาควิชาฯ คนแรก คือ ศ.นพ.มนตรี  มงคลสมัย  ซึ่งโอนมาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตั้งแต่ พ.ศ. 2489  ก่อนที่จะเปิดโรงเรียนแพทย์ 1 ปี เพื่อเตรียมงาน

หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2489  จนถึงปัจจุบัน

ศ.นพ.มนตรี มงคลสมัย พ.ศ. 2489 – 2497
ศ.นพ.สวัสดิ์ สกุลไทย รักษาการแทนหัวหน้าภาควิชาฯ ระยะหนึ่ง
ศ.นพ.สโรช คมสัน พ.ศ. 2503 – 2513
ศ.กิตติคุณพญ.สนใจ พงศ์สุพัฒน์ พ.ศ. 2513 – 2519
รศ.นพ.ศรีสกุล จารุจินดา พ.ศ. 2519 – 2523
ศ.พญ.ชุลี มิตรกุล พ.ศ. 2523 – 2531
รศ.พญ.คุณหญิงส่าหรี จิตตินันทน์ พ.ศ. 2531 – 2535
ศ.กิตติคุณนพ.วิโรจน์ สืบหลินวงศ์ พ.ศ. 2535 – 3539
รศ.พญ.รัชนี เซ็นศิริวัฒนา พ.ศ. 2539 – 2545
ศ.พญ.พิมลรัตน์ ไทยธรรมยานนท์ พ.ศ. 2545 – 2549
รศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์ พ.ศ. 2549 – 2553
ศ.นพ.สุทธิพงศ์  วัชรสินธุ พ.ศ. 2553 – 2558
ศ.พญ.ศิริวรรณ  วนานุกูล พ.ศ. 2558 –  2562

 

ในระยะเริ่มต้นมีครูประจำภาควิชาฯ 5 ท่าน คือ นพ.สโรช  คมสัน  พญ.สนใจ  พงศ์สุพัฒน์  นพ.ดนัย  สนิทวงศ์ ณ  อยุธยา  นพ.ศรีสกุล  จารุจินดา  พญ.บังอร  โอทกานนท์  และมีครูจากต่างประเทศมาช่วยสอนโดยความช่วยเหลือขององค์การเงินทุนช่วยเหลือเด็กของสหประชาชาติ (UNICEF) 3 ท่านโดยผลัดเปลี่ยนกันมาท่านละ 2 ปี