งานด้านการเรียนการสอน

ระดับปริญญาบัณฑิต
ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2549 ภาควิชาฯได้ดำเนินการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรของคณะฯ เป็นหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต  (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2545)  ทำให้ภาควิชาฯมีหน้าที่ในการจัดการเรียนการสอนแก่นิสิตแพทย์ ปีที่ 4 และนิสิตเวชปฏิบัติ   นอกจากนี้ ยังมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนนิสิตในระดับปริญญาบัณฑิตของคณะอื่นๆด้วย ดังนี้

– นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 4 ในรายวิชา  – Theoretical Pediatrics (3000414)
 – Skill in Pediatrics I (3000416)
 – Clinical Performance in Pediatrics I (3000418)
– นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 ในรายวิชา  – Skill in Pediatrics II (3000693)
 – Clinical Performance in Pediatrics II (3000694)
– นิสิตคณะสหเวชศาสตร์ ในรายวิชา  – กุมารเวชศาสตร์สำหรับนักกายภาพ

รวมทั้งภาควิชาฯยังมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนนิสิตแพทย์ ปีที่ 2, 3 ร่วมกับคณาจารย์ทางพรีคลินิกและนิสิตแพทย์ ปีที่ 4 , 5  ร่วมกับคณาจารย์ทางคลินิก นอกจากนี้ ภาควิชาฯยังจัดทำหลักสูตรระยะสั้น สำหรับนักศึกษาแพทย์ต่างประเทศ ที่สนใจเข้ามาศึกษาวิชากุมารเวชศาสตร์เป็นวิชาเลือกในประเทศไทยในรายวิชา Geographical Pediatrics ภาควิชาฯยังเปิดสอนวิชาเลือกวิชากุมารเวชศาสตร์ให้แก่นิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 6 จากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในประเทศไทยด้วย
อาจารย์ในภาควิชาฯยังทำหน้าที่ช่วยสอนในชั่วโมงบรรยายแก่นิสิตแพทย์ของมหาวิทยาลัย   ต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นต้น

ระดับบัณฑิตศึกษา
สำหรับการเรียนการสอนในระดับบัณฑิตศึกษา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ได้เปิดสอนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2510 ซึ่งเดิมคือหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงของมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ หลักสูตรนี้ได้มีการปรับปรุงเรื่อยมาเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ความต้องการของสังคม ตลอดจนพันธกิจและวิสัยทัศน์ของภาควิชาฯ ของคณะฯและของมหาวิทยาลัย ในปัจจุบันหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษาที่ภาควิชาฯรับผิดชอบอยู่คือหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตชั้นสูงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์คลินิก สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2551)  ซึ่งได้เปิดสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2551 จนถึงปัจจุบัน เปิดรับนิสิตใหม่ได้ปีละ 24 คน นอกจากนี้ ภาควิชาฯยังรับผิดชอบในการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านสาขากุมารเวชศาสตร์ ตามหลักสูตรเพื่อวุฒิบัตรแสดงความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม สาขากุมารเวชศาสตร์ ของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและแพทยสภา ซึ่งภาควิชาฯได้ผ่านการตรวจการประเมินคุณภาพการศึกษาสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน  สาขากุมารเวชศาสตร์ โดยคณะกรรมการประเมินสถาบันฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน ของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 21-22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550 นอกจากหลักสูตรฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านแล้ว ภาควิชาฯยังรับผิดชอบในการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านต่อยอดในอนุสาขาต่างๆรวม 13 อนุสาขา ตามหลักสูตรแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขากุมารเวชศาสตร์เฉพาะทาง ของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยและแพทยสภาเช่นกัน ซึ่งในปีการศึกษา 2551 มีแพทย์เข้ารับการฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้านต่อยอดสาขากุมารเวชศาสตร์เฉพาะทางที่ภาควิชาฯรวมทั้งสิ้น 43 คน (ลาออก 1 คน) นอกจากนี้ ภาควิชาฯยังเป็นสถาบันฝึกอบรมสมทบสำหรับแพทย์ประจำบ้านสาขากุมารเวชศาสตร์ของโรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และโรงพยาบาลหาดใหญ่ด้วย ซึ่งในปีการศึกษา 2551 มีแพทย์ประจำบ้านสมทบจากโรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี และโรงพยาบาลหาดใหญ่ รวมทั้งสิ้ 16 คน (ลาออก 1 คน)

นอกจากนี้ คณาจารย์ในภาควิชาฯยังเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาให้กับนิสิตที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกและปริญญาโท ดังนี้

  • นิสิตระดับปริญญาเอก ของหลักสูตรสหสาขาชีวเวชศาสตร์ จำนวน 11 คน
  • นิสิตระดับปริญญาโท ของหลักสูตรวิทยาศาสตร์การแพทย์ จำนวน 10 คน และหลักสูตรชีวเคมีทางการพทย์ จำนวน 8 คน